วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตอบข้อข้องใจเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเรียนฟรี



โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ได้มีข้อห่วงใยมากมายหลายประเด็นเริ่มตั้งแต่ความกังวลว่าจะจัดซื้อเฉพาะ หนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไปจนถึงราคา ณ วันนี้ประเด็นเหล่านั้นได้รับการชี้แจงไปพอสมควรแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ค้างคาใจปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลงเหลืออีกบางประการ จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้



"1.ทำไม สพฐ.จึงยังคงใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (หลักสูตร 2544) ในปีการศึกษา 2552"

แม้จะประกาศหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (หลักสูตร 2551) ไปแล้ว แต่ตามแผนที่ประกาศไว้ ปีแรกคือปีการศึกษา 2552 จะเป็นปีนำร่อง เช่นทุกครั้งที่มีการประกาศหลักสูตรใหม่ โดย สพฐ.จะนำร่องในโรงเรียนต้นแบบ 555 แห่ง และจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่ผ่านการประเมินของ สมศ.ในระดับดีมาก ที่เสนอขอร่วมการนำร่องเข้าร่วมอีกประมาณ 1,000 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค และนำไปปรับปรุงก่อนขยายผลทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 โดยใช้ในชั้น ป.1-ป.6 และ ม.1 และ ม.4 ฉะนั้น ในปีการศึกษา 2552 นี้ โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง จึงยังใช้หลักสูตร 2544

"2.หนังสือหลักสูตร 2544 เก่า ล้าสมัย"

ในจำนวนหนังสือที่ได้รับอนุมัติตามหลักสูตร 2544 จำนวน 1,123 รายการ ส่วนใหญ่จะมีอายุเพียง 3-5 ปี เพราะทยอยได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2546 ตามลำดับ และสำนักพิมพ์ทุกแห่งได้มีข้อตกลงร่วมกับ สพฐ.ที่จะจัดทำใบแทรกเสริม กรณีที่มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งจัดทำเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ เพื่อให้โรงเรียนสามารถปรับปรุงเนื้อหาสาระอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน ในการจัดซื้อหนังสือปี 2552 สพฐ.พร้อมจะรับหนังสือตามหลักสูตร 2544 ที่สำนักพิมพ์แจ้งว่ายังมีความประสงค์จะให้ตรวจเพิ่มเติม สำหรับหนังสือที่ผ่านระบบการประกันคุณภาพของสำนักพิมพ์แล้วในกลุ่มสาระภาษา อังกฤษ (เฉพาะที่ผู้เขียนเป็นเจ้าของภาษา) สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะและการงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มเติมในบัญชีรายชื่อที่โรงเรียนสามารถเลือกซื้อได้ในปีการศึกษา 2552

"3.จะมีหลักประกันใดว่าโรงเรียนคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมมีคุณภาพ"

ในการจัดซื้อ สพท.ทุกแห่งจะต้องจัดนิทรรศการเพื่อให้ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการโรงเรียนได้ศึกษาหนังสือที่มีให้เลือกกว่าพันรายการ ในการคัดเลือกได้กำหนดให้มีภาคี 5 ฝ่าย โดยเริ่มจากคณะครู กรรมการวิชาการ กลั่นกรองเสนอความต้องการพร้อมเหตุผลไปยังคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และกรรมการสถานศึกษา เมื่อได้รายชื่อหนังสือแล้วจะจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ กล่าวคือ

วงเงิน 100,000 บาท ใช้วิธีตกลงราคา

วงเงิน 100,000 บาทขึ้นไป ถึง 2 ล้านบาท ใช้วิธีสอบราคา

วงเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ใช้วิธีอี-ออคชั่น โดยจะต้องมีผู้เสนอราคาไม่ต่ำกว่า 3 ราย

"4.ทำไมไม่เปิดโอกาสให้โรงเรียนนำร่องหลักสูตร 2551 ที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2552 ใช้หนังสือตามหลักสูตร 2551"

เนื่องจากการนำร่องเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเตรียมการใช้หลัก สูตร เพื่อจะทำให้ได้ทราบและเป็นข้อมูลการใช้หลักสูตรก่อนนำไปใช้จริง ประกอบกับหลักสูตร 2551 เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงจากปี 2544 โดยมีมาตรฐานการเรียนรู้และเนื้อหาที่ไม่แตกต่างจากหลักสูตร 2544 มากนัก เน้นการซอยสาระจากช่วงชั้นเป็นปี การปรับปรุงการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การบริหารและจัดการหลักสูตร การพัฒนาสื่อการเรียนรู้และการประเมินผล

จากการประชุมหารือร่วมกันกับสำนักพิมพ์เอกชนในเรื่องการผลิตหนังสือเรียนตาม หลักสูตร 2551 ได้ตกลงร่วมกันจะใช้หนังสือเรียนหลักสูตร 2544 ในโรงเรียนนำร่อง และให้สำนักพิมพ์ส่งหนังสือหลักสูตร 2551 ในกลุ่มสาระหลัก 5 กลุ่ม ให้ สพฐ.ตรวจในเดือนมีนาคม 2552 และในกลุ่มสาระอื่นๆ ในเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งจะทำให้สามารถพิมพ์หนังสือตามหลักสูตร 2551 ได้ทันปีการศึกษา 2553

เมื่อ สพฐ.ได้เชิญสำนักพิมพ์ที่มีหนังสือเรียนได้รับอนุมัติและเตรียมจะผลิต หนังสือตามหลักสูตร 2551 มาประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 อีกครั้ง เพื่อสอบถามความพร้อมและความสมัครใจ ทุกสำนักพิมพ์ ยกเว้นหนึ่งแห่งได้ยืนยันที่จะให้ดำเนินการตามแผนเดิมที่ตกลงกันไว้ โดยให้เหตุผลว่าได้ถือปฏิบัติตามข้อตกลง หากเปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนไปจากข้อตกลง ทุกสำนักพิมพ์ย่อมจะต้องเร่งรีบการดำเนินงานซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพ

จึงพอสรุปได้ว่า ณ บัดนี้ ยังไม่มีหนังสือตามหลักสูตร 2551 ที่ได้ส่งเข้ารับการตรวจและผ่านการตรวจจนพร้อมที่จะวางจำหน่ายในปีการศึกษา 2552 ยกเว้นจะมีการวางแผนพิมพ์และจำหน่ายหนังสือที่ไม่ผ่านการตรวจ ซึ่งหากมีจริงย่อมจะได้รับความกระทบกระเทือนจากโครงการหนังสือเรียนฟรี เพราะโรงเรียนจะต้องซื้อหนังสือในบัญชีที่ผ่านการตรวจและไม่สามารถจะเก็บ เงินผู้ปกครองมาซื้อได้เช่นกัน

"5.สพฐ.จะใช้หนังสือใดในการจัดซื้อ ปีการศึกษา 2553"

ในปีการศึกษา 2553 เมื่อโรงเรียนทั่วประเทศจะใช้หลักสูตร 2551 ในชั้น ป.1-ป.6 และชั้น ม.1 และ ม.4 ในเบื้องต้น สพฐ.ได้วิเคราะห์ว่าจะเปลี่ยนหนังสือเรียนเฉพาะ ป.1 และ ป. 4, ม.1 และ ม.4 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐ และได้ขอคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละกลุ่มสาระ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและครูผู้สอนดีเด่น ได้พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ว่าควรจะเปลี่ยนหนังสือเรียนในกลุ่มสาระใดเพิ่มเติม

สพฐ.มีความพร้อมจะรับตรวจทุกเล่มที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในปีการศึกษา 2553

"6.หากจะต้องเปลี่ยนหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2553 บางเล่ม ทำไมจึงจัดซื้อในปีการศึกษา 2552"

รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะจัดหาหนังสือเรียนให้แก่นัก เรียนทุกคน เมื่อกระทรวงศึกษาธิการรับนโยบายนี้มาดำเนินงาน ได้มีการพิจารณาร่วมกันว่าหากนักเรียนยังจำเป็นต้องซื้อหนังสือในปีการศึกษา 2552 รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนค่าหนังสือเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง

การเสนอระบบหนังสือยืมเรียนเป็นข้อเสนอของ สพฐ. โดยเจตนาจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในปีต่อไป แท้จริงแล้วการจัดซื้อหนังสือเรียนโดยหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการมักจะเป็นการ ซื้อแจก เพราะหนังสือเรียนส่วนใหญ่จะจัดพิมพ์โดยประหยัดจึงเกิดการชำรุดไม่สามารถนำ มาใช้ต่อเนื่องได้ มักต้องซื้อซ่อมอย่างน้อย ร้อยละ 30

ในปีการศึกษา 2553 หนังสือที่สามารถใช้ต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องจัดซื้อใหม่ ได้แก่หนังสือเสริมประสบการณ์ของชั้นอนุบาล หนังสือเรียน ม.2 ม.3 ม.5 ม.6 ซึ่งยังไม่ใช้หลักสูตร 2551

หนังสือที่จะเปลี่ยนแน่นอน และอาจกำหนดคุณลักษณะให้สามารถใช้คงทนขึ้น ได้แก่ หนังสือ ป.1, ป.4, ม.1, ม.4 ส่วนหนังสือ ป.2, ป.3, ป.5, ป.6, ซึ่ง สพฐ.ได้ขอให้คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร 2551 วินิจฉัยนั้น ในเบื้องต้นคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ได้ให้ความเห็นว่าหลักสูตรทั้งสองมีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกันมาก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหนังสือเรียนทั้งหมดในทันที ส่วนกลุ่มสาระอื่นมีทั้งข้อเสนอให้วางมาตรการช่วยเหลือครูหากยังใช้หนังสือ เรียนเดิมและขอให้เปลี่ยนใหม่ ซึ่ง สพฐ.จะได้ประมวลเพื่อนำเข้าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป

สำหรับความเห็นของสำนักพิมพ์ทุกแห่งยกเว้นหนึ่งแห่งพร้อมที่จะรับฟังข้อสรุป จากคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร แต่ขอให้เร่งแจ้งเพื่อดำเนินการให้ทันการ

"7.สพฐ.มีอำนาจในการประเมินคุณภาพของหนังสือเรียน หรือกำหนดบัญชีรายชื่อหนังสือที่โรงเรียนจะเลือกใช้ได้เพียงใด"

ในประเด็นนี้ศาลปกครองกลางได้เคยมีข้อวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 ในประเด็นการประเมินคุณภาพว่า "การผลิตสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการศึกษาของชาติ จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมคุณภาพของสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการ ศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" สำหรับประเด็นการจัดทำบัญชีรายชื่อสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อให้ โรงเรียนเลือกซื้อนั้น ได้มีข้อวินิจฉัยว่า "การจัดทำบัญชีรายชื่อสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ผ่านการประเมิน คุณภาพในทางวิชาการแล้วเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูล หรือรายละเอียดต่างๆ แก่สถานศึกษาในการเลือกใช้สื่อที่มีคุณภาพ ซึ่งการจัดทำบัญชีรายชื่อสื่อดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน กันอย่างเป็นธรรมอีกด้วย รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ อย่างถูกต้อง" แนวปฏิบัติของ สพฐ.จึงสอดคล้องกับข้อวินิจฉัยดังกล่าว

"8.ข้อเสนอแนะอื่นๆ"

คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรและผู้แทนสำนักพิมพ์ได้ฝากข้อคิดเห็นว่าในการพัฒนา คุณภาพหนังสือเรียนถือเป็นเรื่องรอง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเร่งรัดพัฒนาครูให้มีคุณภาพและทันสมัย เพราะเป็นสื่อกลางที่จะพัฒนาให้การเรียนการสอนทันสมัยตลอดเวลา

สพฐ.หวังว่าข้อมูลที่ได้นำเสนอคงจะทำให้ท่านเกิดความกระจ่างมากขึ้น และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วม กัน



ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11312 หน้า 22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น